ความพ่ายแพ้ของผู้นำในสามก๊ก : อองอุ้น พ่ายเพราะไม่ยืดหยุ่น

บทที่ 13
อองอุ้น พ่ายเพราะไม่ยืดหยุ่น
อวสานผู้นำไม้บรรทัด


การกำจัดทรราชย์อย่างตั๋งโต๊ะ
ลำพังเพียงแค่ลิโป้และหน่วยรบของเขา
คงไม่อาจกำจัดตั๋งโต๊ะได้ทันที
และอาจจะเกิดสงครามกลางเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้

ฉะนั้นแผนทุกอย่างต้องสั้น กระชับและรัดกุมที่สุด
แน่นอนว่าคนที่จะวางแผนสังหารผู้นำในระดับนี้ต้องไม่ธรรมดา
มีสติปัญญาชาญฉลาดเป็นอย่างยิ่งและคนผู้นั้นก็คือ "อองอุ้น"
พ่อบุญธรรมของเตียวเสี้ยน
ผู้วางแผนยุแหย่ให้ลิโป้เกลียดชังตั๋งโต๊ะ

Step แรกผ่านไปอย่างงดงาม
ในการทำให้พ่อลูกบุญธรรมผิดใจกัน
ด้วยพิษรักแรงหึง
จนนำไปสู่ชนวนสังหารผู้นำประเทศอย่างตั๋งโต๊ะ

Step 2 คือต้องดึงลิซกทหารคนสนิทของตั๋งโต๊ะมาเป็นพวก
ซึ่งลิโป้อาสาไปทำงานนี้ซึ่งลิซกให้ความร่วมมือดีมาก
เนื่องจากลิซกโกรธแค้นตั๋งโต๊ะที่ยอม "ปรับซี "หรือเลื่อนตำแหน่ง
และเพิ่มโบนัส ทั้งที่ตนมีผลงานมากมาย จึงให้ความร่วมมือกับลิโป้เต็มที่

Step 3. ดึงตั๋งโต๊ะเข้าเมืองหลวงให้ได้
เพราะตั๋งโต๊ะพำนักในวังส่วนตัวที่เมืองเม่ยอู่
ซึ่งเป็นฐานกองกำลังหลักของตั๋งโต๊ะ
ที่มีกองทัพส่วนตัวและเสบียงอาหารที่สามารถอยู่กินได้เป็นปี
แต่อองอุ้นก็ใช้ข้ออ้างว่า พระเจ้าเหี้ยนเต้จะสละราชบัลลังก์
ให้ตั๋งโต๊ะขึ้นเป็นจักรพรรดิ
ทำให้ตั๋งโต๊ะดีใจเป็นอย่างยิ่ง เตรียมหาฤกษ์ยามที่เหมาะสม
ในการขึ้นครองราชย์

Step 4. เมื่อตั๋งโต๊ะเข้าวังก็ให้เข้าไปเฉพาะคนสนิท
ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นลิโป้และลิซก
จากนั้นคงไม่ต้องบอกว่าตั๋งโต๊ะจะถูกเสียบกี่แผล

นี่คือแผนลอบสังหารผู้นำของอองอุ้น
ที่ทำให้เขาสามารถยึดอำนาจการปกครองจากตั๋งโต๊ะ
โดยเสียเลือดเสียเนื้อน้อยที่สุด

แผ่นดินดูเหมือนจะสงบสุข
ทว่าอองอุ้น ผู้กุมอำนาจชะตากรรมแผ่นดิน
เป็นพวกข้าราชการประเภทคงเส้นคงวามากเกินไป
ไม่รู้จักที่จะยืดหยุ่น ผ่อนปรน
ทำให้เขาตัดสินใจผิดพลาด

กรณีชัวหยง ขุนนางในราชสำนักไปร้องไห้อาลัยศพตั๋งโต๊ะ
เนื่องจากระลึกถึงในอดีตที่ตั๋งโต๊ะช่วยผลักดันตน
ให้กลับมาทำงานเขียนประวัติศาสตร์โดยไม่กีดกัน
ซึ่งก่อนหน้านี้ตนถูกขุนนางคนอื่นและ10 ขันทีรังแก
กีดกันไม่ยอมให้เขียนประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมา
อองอุ้นไม่สนใจเรื่องเหล่านี้ทำให้ชัวหยงถูกประหารชีวิต

เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องเมาท์กันทั้งเมืองหลวง
ถึงความใจแคบของอองอุ้นที่ปัดมิตรไปเป็นศัตรู
และการลงโทษที่ไม่สมเหตุสมผลของผู้นำประเทศคนใหม่

กรณีลิฉุยเขียนจดหมายอภัยโทษถึงอองอุ้นว่า
ลิฉุยกุยกีและกองกำลังส่วนอื่นของตั๋งโต๊ะยอมวางอาวุธ
ขอยอมแพ้ภายใต้เงื่อนไขที่จะขอทำงานรับใช้ชาติเหมือนเดิม

อองอุ้นจึงโกรธมาก ประกาศกวาดล้างสมุนของตั๋งโต๊ะ
จนทำให้สุนัขจนตรอกอย่างลิฉุย กุยกี ระดมพลขึ้นมา
ยกทัพบุกเมืองหลวงและสามารถยึดเมืองหลวงได้สำเร็จ

ลิโป้และกองกำลังของเขาสามารถหนีไปได้
ส่วนอองอุ้นไม่ยอมหนี ขออยู่เมืองหลวงอารักขาพระเจ้าเหี้ยนเต้
สุดท้ายก็ถูกลิฉุย กุยกี สังหาร
ราชวงศ์ฮั่นจึงต้องกลับมามืดมนอีกครั้งเพราะการตัดสินใจผิดพลาดของอองอุ้น

คุณผู้อ่าน
หากมองให้ดีจะพบว่า
หากอองอุ้นต้องการจะสังหารลิฉุยและพรรคพวก
ก็ไม่จำเป็นต้องแหวกหญ้าให้งูตื่น
แค่ยอมรับการขออภัยโทษจากลิฉุยและสมุนของตั๋งโต๊ะ
จากนั้นเมื่อคนเหล่านี้ตายใจ
ก็อ้างพระบรมราชโองการเรียกเข้าเฝ้า
หรือย้ายเข้ามาทำงานในเมืองหลวง
แล้วค่อยหาทางกำจัดก็หมดเรื่อง
ในเมื่ออำนาจอยู่ในมือ

ผู้นำอย่างอองอุ้นมีเยอะครับ
คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนดีที่ไม่ยืดหยุ่น
พวกเขามักจะมองว่าคนอื่นที่แตกต่างกับเขา
เป็นคนมีปัญหาหรือเป็นคนผิด
ทั้งที่วิธีการมีตั้งหลายแบบ

กลายเป็นคนEQ. ต่ำเพราะยึดหลักการมากเกินไป
จนละเลยความรู้สึกของคนอื่น
ทำให้ลูกน้องไม่ค่อยชอบ
เนื่องจากบริหารทุกอย่างต้องถูกต้องเป็นไปตามหลักการ
ใครผิดแนวทางถือว่าไม่ถูกต้อง
กลายเป็นผู้นำไม้บรรทัด

ผู้นำแบบนี้
ไม่รู้จักการผ่อนหนักผ่อนเบา
ไม่รู้ว่าจังหวะไหนควรช้าหรือจังหวะไหนควรเร็ว
ทำทุกอย่างเหมือนกัน แต่ลืมไปว่าแต่ละคนแตกต่างกัน
ผลที่ออกมาย่อมแตกต่างกัน
นี่คือจุดอ่อนที่อยู่ในจุดแข็ง
ของผู้นำประเภทนี้

แต่ก็ใช่ว่าพวกไม้บรรทัดจะปรับตนเองไม่ได้
หากเขายอมรับฟังความคิดของคนอื่นให้มาก
ยอมรับในความแตกต่างสักหน่อย
ลดหลักการ หันมาเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นอีกสักนิด
ผู้นำแบบนี้จะกลายเป็นผู้นำที่มีเสน่ห์ขึ้นมาทันที
คุณผู้อ่านว่าจริงไหม

ขอบคุณข้อมูลจาก อ.เปี่ยมศักดิ์ คุณากรประทีป ผู้เชี่ยวชาญสามก๊ก