ความพ่ายแพ้ของผู้นำในสามก๊ก : เตียวหุยเมาจนเสียเมือง

บทที่8
เตียวหุยเมาจนเสียเมือง
ความผิดพลาดของการใช้คนที่ไว้ใจ


หลังจากกองทัพ 18 หัวเมืองเกิดอาการ "วงแตก"
แยกย้ายกลับเมือง
ขุนศึกทุกคนต่างเร่งสะสมไพร่พล
ซุนเกี๋ยนยึดกังตั๋ง
อ้วนเสี้ยวยึดกิจิ๋ว
อ้วนสุดขยายอำนาจจากลำหยง
โจโฉยึดเฉงจิ๋วและกุนจิ๋ว

เล่าปี่ยังเหมือนเดิมคือเป็นนายอำเภอเพงงวนก๋วน
ฐานะต่ำต้อยกว่าทุกคน
จนกระทั่ง่เล่าปี่อาศัยจังหวะที่โจโฉยกทัพล้อมเมืองชีจิ๋ว
ยกทัพเข้าช่วยโตเกี๋ยม เจ้าเมืองชีจิ๋ว
เมื่อสถานการณ์สงบ
โตเกี๋ยม เจ้าเมืองชีจิ๋วจึงขอร้องให้เป็นเจ้าเมืองต่อจากตน
สุดท้ายเล่าปี่จึงได้เป็นเจ้าเมืองหัวเมืองเอก

ในขณะนั้นลิโป้แตกทัพมาขอพึ่งเล่าปี่
เล่าปี่เห็นเป็นโอกาสที่จะดึงลิโป้เป็นแนวร่วมต่อต้านโจโฉ
จึงต้อนรับขุนทวนอันดับหนึ่งเป็นอย่างดี

โจโฉไม่ต้องการให้เล่าปี่กับลิโป้จับมือกระชับไมตรีกัน
จึงอ้างพระบรมราชโองการให้เล่าปี่เคลื่อนทัพไปกำจัดอ้วนสุด
หวังจะยืมมือลิโป้กำจัดเล่าปี่
เพราะเมื่อเมืองว่าง คนเนรคุณอย่างลิโป้คงไม่ปล่อยโอกาสทอง

ด้วยเหตุนี้เล่าปี่จึงจัดทัพออกรบโดยมีกวนอูเป็นทั้งขุนพลและที่ปรึกษา
ส่วนเตียวหุยให้เฝ้าเมืองโดยกำชับว่าห้ามเตียวหุยดื่มสุรา
เล่าปี่ยกทัพออกจากเมืองไปไม่นาน
เตียวหุยก็จัดปาร์ตี้ อำลาสุรา เพื่อเป็นการดื่มครั้งสุดท้าย
จนเมามายไม่เป็นท่า จนนำไปสู่การโบยตี ขุนพลโจป้า พ่อตาลิโป้
สุดท้ายโจป้า จึงเปิดประตูเมืองให้ลิโป้เข้ายึดอย่างง่ายดาย

เรื่องราวการใช้คนผิดประเภท
เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิด
แต่บ่อยครั้งก็เลี่ยงไม่ได้เพราะบุคลากรที่มีก็แสนจำกัด
นี่คือข้อจำกัดอันแสนปวดศีรษะของผู้นำ

ทว่าหากพลิกมุมคิดสักนิด
จะพบว่าบุคลากรมีจำกัด
หรือคนที่ไว้ใจได้มีจำกัด
ลองตรองให้ดีนะครับ

กรณีของเล่าปี่ก็เช่นกัน
เพราะในโลกทัศน์ของเล่าปี่
คนที่เขาไว้ใจได้มีแค่ กวนอู,เตียวหุย
ในขณะที่ทีมงานของเขามี
บิต๊ก กันหยง ซุนเขียน พ่อลูกตระกูลตัน

แน่นอนว่าคนเหล่านี้รบพุ่งไม่เก่งเหมือนเตียวหุย
แต่มั่นใจได้ว่าสติปัญญาและไหวพริบดีกว่าเตียวหุยแน่
ทว่าเล่าปี่กลับไม่เลือกคนเหล่านี้มาคุมฝ่ายบู๊
เนื่องจากไม่ต้องการให้คนนอกครอบครัวมาคุมฝ่ายความมั่นคง
ไม่ใช่ว่าไม่เชื่อมือ หากแต่ไม่ใว้ใจ
ซึ่งผิดกับโจโฉที่กล้าตั้งคนนอกอย่างซุนฮก ให้มาดูแลพระนครฮูโต๋ ยามเขาออกศึก

จากประเด็นนี้ทำให้ผมเห็นว่า
ในช่วงดังกล่าว เล่าปี่ขี้ระแวงกว่าโจโฉ
และพยายามกุมอำนาจทั้งหมดเอาไว้ในครอบครัวและคนใกล้ชิด

ผู้นำและนักบริหาร ในบ้านเรามีจำนวนไม่น้อย
ที่คิดแบบเล่าปี่ สุดท้ายก็ต้องผิดหวัง "คอตก" เพราะงานล้มเหลว
เนื่องจากใช้แต่คนสนิทที่ไว้ใจ

คุณผู้อ่านครับ วิธีคิดแบบนี้มันสะท้อนให้เห็นถึง
ความล้มเหลวของระบบการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพ
ไม่มีระบบตรวจสอบที่ชัดเจน
ทำให้ระแวงอยู่ตลอดเวลาว่าคนอื่นจะโกง
เหตุที่รู้สึกเช่นนั้นเนื่องจากความเชื่อที่ว่า

"เลือดต้องข้นกว่าน้ำ
พี่น้องกันต้องไม่โกง
แต่คนอื่นไม่แน่"
(ทว่าไอ้ที่พังพินาศ
ส่วนมากก็มาจากการยักยอกของคนใน)

เรียกว่าเป็นการใช้ความรู้สึก
และใกล้ชิดตัดสินจริยธรรมของคนอื่น
ทำให้ระแวงและไม่กล้าใช้งานคนนอก
ผลที่ตามมาคือทำให้ไม่บรรลุเป้าหมาย
และสูญเสียโอกาสดีๆไปอย่างมากมาย
ทำให้บ่อยครั้งถูกคู่แข่งแซงโค้ง
ไปอย่างน่าเสียดาย

ขอบคุณข้อมูลจาก อ.เปี่ยมศักดิ์ คุณากรประทีป ผู้เชี่ยวชาญสามก๊ก